Google Analytics 4

×

เที่ยวอินเดียด้วยตัวเอง :


คุยกันก่อนนะครับ


แนะนำแผนการท่องเที่ยวอินเดีย


ควรรู้ก่อนเดินทางไปเที่ยวอินเดีย


เตรียมตัวก่อนเดินทางไปเที่ยวอินเดีย


การเดินทางในอินเดีย


พาเที่ยวอินเดีย


ก่อนเดินทางกลับจากเที่ยวอินเดีย


เกร็ดความรู้เพิ่มเติม










India India ข้อมูลเที่ยวอินเดียเนปาลด้วยตัวเอง และชมรูปภาพ วีดีโอคลิป อินเดีย เนปาล พร้อมข้อมูลประกอบ


13/7/59
เที่ยวอินเดียออนไลน์ : พุทธคยา - บริเวณมหาโพธิมหาวิหาร


ต้นพระศรีมหาโพธิ์รุ่นที่ 4
และมหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในคืนวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

ด้านหน้ามหาโพธิมหาวิหาร
พุทธคยา อินเดีย

บริเวณด้านหน้ามหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

แต่เดิมต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อว่าต้นอัสสัตถะนะครับ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus religiosa L. อยู่ในวงศ์ Moraceae แต่เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นไม้นี้ ดังนั้น จึงได้รับชื่อใหม่ว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งหมายถึงต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั่นเองครับ

ประวัติของมหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระแท่นวัชรอาสน์
พุทธคยา อินเดีย

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นรุ่นที่ 4 แล้วนะครับ ปลูกโดยนายพลเซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2423 โดยแตกหน่อสืบเชื้อสายมาจากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั่นเองครับ

พระแท่นวัชรอาสน์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
พุทธคยา อินเดีย

ในพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชทรงประดิษฐานพระแท่นวัชรอาสน์ (Vajrasana - อาสนะเพชร) พระแท่นซึ่งทำจากหินทราย เอาไว้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ครับ ในตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

พระพุทธเมตตา ในมหาโพธิมหาวิหาร
พุทธคยา อินเดีย

ตลอดสัปดาห์ที่ 1 หลังการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ สถานที่แห่งนี้ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนะครับ

อนิมิสเจดีย์
ข้างมหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

สัปดาห์ที่ 2 เสด็จไปประทับยืนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงจ้องดูต้นพระศรีมหาโพธิ์ไม่กระพริบพระเนตร สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า อนิมิสเจดีย์ครับ

รัตนจงกรมเจดีย์
ข้างมหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

สัปดาห์ที่ 3 แห่งการเสวยวิมุตติสุข พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมตลอด 7 วัน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์ กับอนิมิสเจดีย์ สถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่ารัตนจงกรมเจดีย์ครับ

รัตนฆรเจดีย์
ใกล้มหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

สัปดาห์ที่ 4 พระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก ณ เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตให้ ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่แห่งนั้น จึงได้ชื่อว่า รัตนฆรเจดีย์ครับ

เสาแสดงตำแหน่งของต้นอชปาลนิโครธ
หน้ามหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

ในสัปดาห์ที่ 5 หลังการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข (ทรงเข้าผลสมาบัติ) เป็นเวลา 7 วัน ใต้ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ หลังทรงออกจากผลสมาบัติแล้ว ทรงตอบปัญหาของพราหมณ์หุหุกชาติ ทรงแสดงสมณะและพราหมณ์ที่แท้ พร้อมทั้งธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ครับ

เสาอโศก ริมสระมุจจลินท์
ภายในบริเวณมหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

สระมุจจลินท์
ภายในบริเวณมหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

สัปดาห์ที่ 6 พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นมุจจลินท์ (ต้นจิก) อยู่ 7 วัน มีฝนตกลงมา มุจจลินทนาคราชได้มาวงขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์ ณ สถานที่แห่งนี้ทรงเปล่งอุทานว่า

ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก
ความปราศจากราคะคือความล่วงกามทั้งหลายได้ เป็นสุขในโลก
ความกำจัดอัสมิมานะ (ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่) เสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง

นกกะรางหัวขวาน
ด้านข้างมหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

สัปดาห์ที่ 7 ประทับนั่งใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกต) ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงนั่งโดยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา 7 วันครับ

ครั้งนั้น พ่อค้า 2 คน คือ ตปุสสะ และภัลลิกะ เข้ามาถวายสัตตุผง สัตตุก้อน และได้แสดงตนเป็นปฐมอุบาสกถึงรัตนะ 2 คือพระพุทธ และพระธรรม (ขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์) เป็นสรณะ ทั้งสองจึงได้เป็นเทฺววาจิกอุบาสก (ผู้กล่าววาจาถึงรัตนะ 2 ว่าเป็นสรณะ) เป็นพวกแรกในโลกครับ

ด้านหน้าประตูทางเข้ามหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่เจ็ด ณ ที่นี้แล้ว เสด็จกลับไปประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธอีก ทรงดำริถึงความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้คือ ปฏิจจสมุปบาทและพระนิพพาน แล้วน้อมพระทัยที่จะไม่แสดงธรรมครับ เป็นเหตุให้สหัมบดีพรหมมากราบทูลอาราธนา และ ณ ที่นี้เช่นกัน ได้ทรงพระดำริเกี่ยวกับสติปัฏฐาน 4 ที่เป็นเอกายนมรรค และอินทรีย์ 5 อันมีอมตธรรมเป็นที่หมาย

หลังจากนั้นจึงได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าสารนาถครับ



การกราบแบบทิเบต
ภายในบริเวณมหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา อินเดีย

ในเวลาเช้าและเย็น พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชาวทิเบตจะมารายล้อมกราบพระพุทธเจ้า โดยหันหน้าไปทางต้นพระศรีมหาโพธิ์/พระพุทธเมตตา/พระวิหาร เป็นประจำครับ

การกราบนั้นไม่ใช่กราบแค่ 3 ครั้ง หรือ 5 ครั้ง แต่กราบนานนับชั่วโมงเลยครับ ถ้าเหนื่อยก็พักสักครู่แล้วกราบต่อไป

บางรูปบางคนก็กราบแล้วก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ เวียนขวารอบพระวิหาร
หรือแม้แต่กราบจากบนเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ ค่อยๆ ก้าวแล้วกราบไปเรื่อยๆ จนลงไปถึงเชิงเขาเลยก็มีครับ

ในคลิปข้างบนเป็นการกราบในตอนเช้า โดยมีเสียงสวดมนต์ของพระภิกษุและฆราวาสดังออกมาจากมหาโพธิมหาวิหารครับ


ไปหน้าสารบัญ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น