สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้ต้องการให้กลัวจนไม่กล้าไปไหนนะครับ แต่อยากจะให้ระวังเอาไว้ เพราะถ้าเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมาในต่างประเทศ จะลำบากกว่าอยู่เมืองไทยมากครับ
- ต้องพกพาสปอร์ตติดตัวไว้เสมอนะครับ ควรถ่ายเอกสารเอาไว้หลายๆ ชุดด้วย ทั้งเพื่อป้องกันการสูญหาย และเอาไว้ใช้ในการติดต่อบางอย่าง เช่น ซื้อตั๋วรถไฟ พักโรงแรม แยกเก็บเอาไว้หลายๆ ที่นะครับ ถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นก็สแกน หรือถ่ายรูปเก็บเอาไว้ในอินเตอร์เน็ตด้วย เช่น อีเมล์ หรือบริการฝากไฟล์ต่างๆ (www.pcloud.com www.dropbox.com ฯลฯ) ถ้าเจอปัญหาจริงๆ ก็จะได้โหลดมาใช้ได้ครับ
- เงินสดไม่ควรเก็บรวมกันไว้ในกระเป๋าใบเดียวกันทั้งหมดนะครับ ควรมีกระเป๋าสำหรับหยิบใช้ซึ่งใส่เงินไว้เท่าที่จำเป็น จะได้ไม่ล่อตาล่อใจ แล้วมีกระเป๋าอีกใบเก็บเงินที่เหลือเอาไว้ แยกกับใบแรกเพื่อป้องกันการสูญหายทั้งหมดครับ
- ไม่ควรนำของมีค่าติดตัวไปด้วยโดยไม่จำเป็น และควรทำตัวให้กลมกลืนกับสถานที่ และคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นั้นให้มากที่สุดนะครับ
 |
รถม้าที่พุทธคยา อินเดีย |
- ไม่ไปในที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่นที่เปลี่ยว
- อย่าให้เงินหรือสิ่งของกับขอทานที่อินเดียนะครับ ไม่งั้นจะมีคนอื่นตามมารุมขออีกเป็นสิบคนเลย
- คนอินเดียบางคนขี้โกงมาก คนอินเดียเองยังเตือนเรื่องนี้เลยครับ จะทำอะไรต้องระวังตัวตลอด กันเอาไว้ดีกว่าแก้นะครับ
- วิธีหลอกเอาเงิน เช่น แทนที่จะขอเป็นเงิน ซึ่งคนทั่วไปจะไม่อยากให้ ก็จะขอเป็นหนังสือเรียนหรืออาหารแทน ทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะให้มากกว่า แล้วก็จะพาเราไปเลือกซื้อที่ร้านเลย แต่พอเราออกจากร้านมาแล้ว ก็จะเอาของไปคืนที่ร้าน แล้วรับเป็นเงินจากทางร้านแทนครับ
- อีกวิธีคือตั้งโรงเรียนไทยครับ ที่พุทธคยาจะมีป้ายติดตามบ้านว่า "ไทยโรงเรียน" หรือ "โรงเรียนไทย" อยู่หลายที่ เพื่อขอทุนการศึกษา หรือเงินช่วยเหลือโรงเรียนจากนักท่องเที่ยวไทยครับ เพราะคนไทยจะชอบทำบุญมากกว่าชาติอื่นๆ แต่เท่าที่ทราบไม่มีการเรียนการสอนจริงนะครับ สังเกตจากป้ายชื่อโรงเรียนก็เขียนผิดแล้ว แล้วลองคุยดูก็จะรู้ว่าคนที่พูดไทยแบบนี้จะเป็นครูสอนภาษาไทยได้รึเปล่า
 |
สามล้อปั่นที่พุทธคยา อินเดีย |
- บางคนก็เข้ามาตีสนิทแล้วมีอุบายขอเงินในตอนหลังครับ เช่น ขอเป็นของขวัญ บางคนก็ใช้วิธีบรรยายเรื่องทุกข์ยากของครอบครัวให้ฟัง เพื่อให้เราสงสารแล้วให้เงิน
ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าอย่าให้นะครับ คือถ้าเรารู้สึกว่าอยากให้จริงๆ ให้แล้วมีความสุขก็ให้ไปเถอะครับ ยังไงก็ได้บุญ แต่ถ้าให้แล้วมารู้สึกว่าถูกหลอกภายหลัง จิตใจก็จะเป็นทุกข์ เกิดอกุศลจิตไปเปล่าๆ ครับ
- ก่อนใช้บริการอะไรต้องตกลงราคาให้ดีก่อนนะครับ และถ้ามีการส่งต่อเรื่องไปให้คนอื่น ก็ต้องย้ำเรื่องราคากันใหม่ทุกครั้งนะครับ ไม่งั้นตอนจ่ายเงินจะโดนโขกราคา แล้วไม่ยอมลดด้วยนะครับ เถียงกันไปก็ไม่ยอมท่าเดียว
- และระวังคำว่า teen ตอนคุยตอนแรกจะกลายเป็น ty ตอนจ่ายเงินด้วยนะครับ เช่น 15 (fifteen) ตอนตกลงราคา จะกลายเป็น 50 (fifty) ตอนจ่ายเงิน ถ้าให้มั่นใจตอนตกลงราคาอาจใช้วิธีเขียนตัวเลขไว้เป็นหลักฐาน กดเครื่องคิดเลขหรือโทรศัพท์ให้ดู หรือหยิบเงินให้ดูว่า 15 ไม่ใช่ 50 ก็ได้ครับ
- ตอนรับเงินทอนต้องนับให้ดีนะครับ เงินทอนอาจไม่ครบนะครับ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ เช่น ตามสถานีรถไฟเลยครับ
 |
อีกมุมหนึ่งของพุทธคยา อินเดีย |
- เวลาอยู่ในที่สาธารณะต้องดูแลข้าวของสัมภาระให้ดี คล้องกุญแจได้ก็คล้อง หรือเอาร่างกายกดทับหรือสัมผัสกระเป๋าเอาไว้ตลอดเวลา ก่อนออกจากห้องพักก็ล็อคกุญแจประตูให้ดีนะครับ
- การรับปากของคนอินเดียจำนวนไม่น้อยเชื่อไม่ได้นะครับ บอกว่าพรุ่งนี้อาจกลายเป็นอาทิตย์หน้าเลยก็ได้ครับ อย่านัดอะไรที่เสี่ยงกับเรื่องเวลา
- ก่อนขึ้นรถต้องยืนยันสถานที่ให้ชัดเจน อ้างอิงจุดสังเกตสำคัญที่คนทั่วไปรู้จักด้วยก็จะดีมากครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าบอกว่าจะไปโรงแรมอารตี ก่อนขึ้นรถก็จะบอกว่ารู้จัก แต่กลับพาเราไปโรงแรมอื่นแทน เพื่อไปรับค่านายหน้าในการส่งลูกค้าให้กับโรงแรมนั้น แล้วบอกว่าโรงแรมที่เราบอกปิดไปแล้วก็มีครับ ดังนั้นแทนที่จะบอกว่าไปโรงแรมอารตี ก็บอกว่าจะไปท่าน้ำหริศจันทร์จะดีกว่านะครับ
- ทำใจเอาไว้เลยว่า 80-90% ของคนอินเดียที่เข้ามาตีสนิทกับเรานั้น เข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์จากเรา ต้องระวังตัวให้ดีครับ ใครเสนออะไรมาก็ปฏิเสธเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะที่บอกว่าฟรี เช่น บอกว่าจะพาไปดูจุดโน้นจุดนี้ บางคนก็เหมือนฟรีครับ แต่ใช้วิธีบวกราคากับสินค้าหรือบริการแล้วไปรับคอมมิชชั่นจากคนขาย
- ก่อนไปไหนขอคำแนะนำจากคนที่ไว้ใจได้ เช่น พระไทยที่อยู่อินเดียมานาน และอาศัยแผนที่ประกอบจะดีกว่าให้คนอินเดียพาไป นอกจากเป็นคนของวัดไทยที่มีพระไทยรับรองนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น